วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศาสนสถานนาม “กุฎี” ในฝั่งธนบุรีและกรุงเก่า

งานเขียน - ความเป็นมาของศาสนาอิสลามในประเทศไทย { 2 }


คำว่า “กุฎี” ลางทีเขียนเป็น กระดี, กะดี และกะฎี สันนิษฐานว่า น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซียที่หยิบยืมมาใช้แต่อดีต ส่วนความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ระบุว่า หมายถึง “โรงประชุมทำลัทธิพิธีฝ่ายศาสนาอิสลาม” (ที่นี่ต้นสน ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๑๐) บ้างก็ว่าคำ “กะฎี” เป็นคำสามัญที่มุสลิมชีอะฮฺใช้เรียกชื่อศาสนสถานของพวกเขา อาจจะมาจากคำว่า “กะดีรกุม” (Gadir Khumm) แต่โดยทั่วไป ศาสนสถานของมุสลิมนิกายชีอะฮฺ มีศัพท์เรียกเป็นทางการว่า “อิหม่ามบาราฮฺ” (Imambara) แปลว่า “เคหาสน์ของอิหม่าม” (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา (๒๕๔๖) หน้า ๔๔)

บางท่านระบุว่า พวกเจ้าเซ็นกล่าวว่า พิธีกรรมมะหะหร่ำ อันมีการควั่นหัวนั้นจะกระทำที่มัสยิดหรือสุเหร่าไม่ได้ จึงทำกันที่กุฎีหรือกะดี จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวระหว่างกะดีกับมัสญิด และที่เรียกว่า กุฎีหรือกะดีนั้น ทางพวกเจ้าเซ็นเรียกว่า อิหม่ามบาราฮฺ แปลว่าหัวหน้าใหญ่ (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ หน้า ๘๘) กระนั้นก็ดี ในหมู่พวกสุหนี่เอง ก็มีมัสยิดรูปร่างคล้ายโบสถ์ไทยแบบสถาปัตย์วัดโพธิ์ (อ้างแล้ว หน้า ๘๘-๘๙)


พระยาอนุมานราชธน เขียนว่า

“แต่คำว่ากุฎีเจ้าเซ็น กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เคยบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นคำเปอร์เซีย แปลว่า “พระแท่นหรือที่ประทับของเจ้าเซ็น” ข้าพระพุทธเจ้าค้นในภาษามลายู พบคำว่า “กะเต” ว่ามาจากเปอร์เซีย แปลความเดียวกัน คิดด้วยกลัวว่าจะเป็นคำเดียวกัน” (บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๒ หน้า ๑๐๓) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ทรงตอบว่า “คำกะเต ถูกลากเอาไปเข้าคำกุฎี ก็ควรแล้วเพราะ คำกะเตเลือนมาเข้าใจกันเป็นตัวเรือนไปเสียแล้ว ลักษณะก็ใกล้กับกฎี ชื่อก็ใกล้กับกฎี เราคุ้นเคยกับคำกฎี คำกะเตจึงถูกลากมาเป็นกฎี ขอให้สังเกตว่า ไม่ใช่มีแต่กฎีเจ้าเซ็น ซ้ำมีกฎีจีนต่อไปอีก ออกจะแปลยาก ดูไม่มีจีนอยู่ที่นั้นเลย” (บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๒ หน้า ๑๐๕)

ในเขตธนบุรีมีมัสยิดหลายแห่งใช้คำว่า “กุฎี” นำหน้า ได้แก่

กุฎีใหญ่ (หรือกุฎีบางกอกใหญ่หรือมัสยิดต้นสน) หลังปัจจุบันกุฎีใหญ่ (หรือกุฎีบางกอกใหญ่หรือมัสยิดต้นสน) หลังปัจจุบัน


(๑) กุฎีใหญ่ (หรือกุฎีบางกอกใหญ่หรือมัสยิดต้นสน) ตั้งอยู่ท้ายพระราชวังเดิม ริมคลองบางหลวงฝั่งเหนือ ซึ่งเป็นกุฎีที่เก่าแก่ที่สุด มีประวัติศาสตร์ยาวนานมานับแต่สมัยอยุธยา เมื่อไม่นานมานี้มีการขุดแต่งปรับพื้นที่ของสุสาน (กุบูร) มัสยิดต้นสน พบสุสานแห่งหนึ่งมีแท่นก่ออิฐถือปูนคล้ายฐานชุกชี มีรูปทรงปูนปั้นศิลปะอยุธยาตอนกลางหรือตอนปลาย สันนิษฐานว่า เป็นสุสานของขุนนางมุสลิมสำคัญในสมัยอยุธยา อาจจะเป็นพระยาสีหราชเดโชชัย (ทิพ) บ้างก็เขียนว่า ยะหิป เป็นบุตรพระยาราชวังสัน (ฮะซัน) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างไรก็ตาม ศิลปะของแท่นเหนือสุสานแห่งนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า สุสานของมัสยิดต้นสนย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยาแน่นอน


(๒) กุฎีหลวงหรือกุฎีบน อาคารเดิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองมอญตรงข้ามกับท่าราชวรดิฐ บนที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลได้เวนคืนที่ดินดังกล่าว กุฎีหลวงจึงย้ายมาอยู่ในที่ดินแปลงใหม่ที่ถนนพรานนก แขวงบ้างช่างหล่อ กุฎีหลวงเป็นศาสนสถานของพวกเจ้าเซ็น

กุฎีหลวงหรือกุฎีบน


(๓) กุฎีกลางหรือกุฎีล่าง ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ เมื่อมีการสร้างสะพานเจริญพาศน์ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า กุฎีเจริญพาศน์


กุฎีกลางหรือกุฎีล่าง



กุฎีโต๊ะหยีหรือกุฎีขาว

(๔) กุฎีโต๊ะหยีหรือกุฎีขาว ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงฝั่งใต้ ตรงข้ามวัดหงส์รัตนาราม จากหลักฐานในหนังสือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๓๔ หน้า ๖๒” มีแผนที่เป็นหลักฐานว่า มัสยิดบางหลวงถูกสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒ และมุสลิมสุหนี่ (แขกแพ) ได้ย้ายขึ้นมาอยู่บนบกในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงอนุมานได้ว่า มัสยิดบางหลวงสร้างขึ้นในระยะนั้น ผู้ก่อตั้งมัสยิดบางหลวง คือ โต๊ะหยี ซึ่งเป็นคหบดีและเป็นพ่อค้าใหญ่ ทำการค้าขายติดต่อกับประเทศจีนและอินเดีย (เอกสารมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) “ประวัติมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว)” หลวงพิพิธเภสัช (๒๕๑๒) หน้า ๒๘)


อาคาร มัสยิดเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง มีหน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ ๓ ชาติ คือ กรอบหน้าบัน เป็นเครื่องลำยอง ประดับห้ามฉายไว้บนยอด เป็นศิลปะไทย ในหน้าบันเป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ เป็นศิลปะฝรั่ง ส่วนดอกไม้เป็นดอกเมาตาล เป็นศิลปะจีน


ลายศิลปะ ๓ ชาตินี้ได้นำมาประดับที่กรอบประตูและหน้าต่างทุกบานของมัสยิด ในส่วนตัวอาคารเป็นปูนทาสีขาวทั้งหมด ส่วนที่เป็นไม้ทาสีเขียวและเครื่องบนทั้งหมดที่เป็นไม้ เช่น ตง คาน รอด และแผ่นเพดานจะวางไว้ในที่บังคับ โดยไม่ตอกตะปู สามารถถอดได้เป็นชิ้น ๆ ทั้งอาคาร มีห้องกลางห้องเดียว เป็นห้องละหมาด หน้าห้องละหมาดเป็นหน้ามุข มีพาไลหรือเฉลียงโดยรอบ ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดขึ้นทางหน้ามัสยิด ๒ ข้าง มีหน้ามุขเข้าห้องละหมาด พื้นห้องละหมาดปูด้วยอิฐหน้าวัวสีแดง


ส่วนพื้นภายนอกปูด้วยกระเบื้องปูนขาว ขนาดของอาคารมัสยิด กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สูง ๑๖ เมตร นับได้ว่าเป็น “มัสยิดก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทย” ต่อ มาท่านโต๊ะพิมพ์เสน ได้ขอซื้อพระตำหนักวังเก่ามาทำเป็นศาลามัสยิดขึ้น ๑ หลัง เป็นไม้ทั้งหลังและเป็นทรงไทยเช่นกัน ใช้เป็นศาลาเลี้ยงและเก็บวัสดุต่าง ๆ ของมัสยิด ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมัสยิด พร้อมกับได้สร้างหอกลอง เป็นไม้ทั้งหลังอยู่ทางทิศใต้ของมัสยิด


ครั้นต่อมา มิมบัรในมัสยิดชำรุดลง เจ้าสัวพุก พ่อค้าจีนมุสลิม ได้ทำการก่อสร้างมิมบัรและมิหฺรอบขึ้นใหม่ เป็นซุ้มทรงวิมาน ก่ออิฐถือปูนผสมผสานด้วยลวดลายปูนปั้นของศิลปะระหว่างไทย จีน ฝรั่ง ประกอบด้วยฐานเสาเป็นปูนปั้นลวดลายไทยเกี่ยวกระหวัดด้วยกิ่ง ใบฝรั่งเทศ และดอกเมาตาลของจีนตลอดเสา โดยเฉพาะที่เป็นลายไทย เริ่มตั้งแต่ฐานล่าง ฐานเท้าสิงห์ กาบพรหมศวร ดอกประจำยาม บัวหัวเสา รัดเกล้า บันแถลง ตลอดตัวเสาประดับด้วยกระจกสีเขียว ขาว แดง น้ำเงิน เหลือง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายรักร้อยและลายแก้วชิงดวง


ส่วนบ้านบนเป็นทรงวิมานยอดผสมผสานด้วยลวดลายก้านใบฝรั่งเทศ และดอกเมาตาลของจีนเต็มทั้ง ๓ ยอด ทั้งซุ้มประดับด้วยกระจกหลากสี และภายในซุ้มมีการแกะสลักแผ่นไม้เป็นตัวนูนลอย บรรจุบทอัลกุรอาน และอัลหะดีษที่สำคัญไว้ด้วย (วารสารมุสลิม กทม. ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๒ (๒๕๔๖) ภาพจากปก)


(๕) กุฎีแดง เดิมตั้งอยู่ในย่านเดียวกับกุฎีขาวในคลองบางหลวง ปัจจุบันไม่ปรากฏอาคารมัสยิดกุฎีแดง น่าจะยุบเลิกมาประกอบศาสนกิจร่วมกับชุมชนกุฎีขาว


(๖) กุฎีนอกหรือกุฎีปลายนา ตั้งอยู่ริมคลองวัดพลับ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่ดินบริเวณปลายนาหลวงในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


(๗) กุฎีบ้านสวน ตั้งอยู่ย่านคลองบางหลวงตอนใน ใกล้วัดใหม่ท้องคุ้ง (วัดเวฬุราชิน) ซึ่งเป็นพื้นที่ทำสวนพลูในอดีต


(๘) กุฎีเขียวหรือกุฎีโต๊ะเขียว แยกตัวจากกุฎีบ้านสวนมาอยู่ริมคลองบางหลวงและถูกเวนคืนที่ดิน เมื่อครั้งตัดถนนอินทรพิทักษ์ สร้างสะพานเนาวจำเนียรผ่ากลางกุฎีและสุสาน


ในภายหลังมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘ และ “พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐” มัสยิดที่มีคำว่า กุฎี เหล่านี้ได้จดทะเลียนและเปลี่ยนชื่อมัสยิดเป็นดังนี้ กุฎีใหญ่เป็นมัสยิดต้นสน, กุฎีปลายนาเป็นมัสยิดดิลฟัลลาฮฺ และกุฎีบ้านสวนเป็นมัสยิดสวนพลู ส่วนกุฎีเจริญพาศน์ยังคงใช้ชื่อเดิมเพียงแห่งเดียวเท่านั้น (วารสารที่นี่ต้นสน ฉบับที่ ๑ (๒๕๔๖) หน้า ๑๑-๑๒)


นอกจากในธนบุรีแล้ว ที่อยุธยาก็มีมัสยิดที่ใช้คำว่า กุฎี นำหน้าอยู่หลายแห่งเช่นกัน ได้แก่

(๑) กะดีท้ายคูหรือกุดี (กุฎี) ทองหรือกะดีแขกใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกะดี (กุฎี) หรือศาสนสถานสำคัญของพวกเจ้าเซ็นในสมัยอยุธยา ที่สร้างบนที่ดินซึ่งเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะฮฺหมัดอัลกุมมีย์) ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตั้งอยู่ที่ท่ากายี บางครั้งบริเวณที่ตั้งกุฎีทองก็เรียกว่า โคกแขกหรือโคกกุฎีทอง เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ว่าเป็นสุเหร่าของเฉกอะฮฺหมัด (วัฒนธรรมไทย ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ หน้า ๒๙) พระยาโบราณราชธานินทร์ เรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “ทุ่งแขก” หรือ “โคกแขก” ในปัจจุบันพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีหลักฐานเนินดิน และสะพานอิฐก่อช่องโค้งแหลมแบบสถาปัตยกรรมอินโด-อิหร่าน (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา (๒๕๔๖) หน้า ๔๓)


ภาพมัสยิดตะเกี่ยโยคินราชมิสจินจาสยามภาพมัสยิดตะเกี่ยโยคินราชมิสจินจาสยาม



(๒) กะดีใหญ่เติกกี้หรือกุฎีตะเกี่ย เรียกว่า “มัสยิดตะเกี่ยโยคินราชมิสกิจจินจาสยาม” ตั้งอยู่ปากคลองตะเคียนด้านใต้ เป็นกุฎีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในบริเวณติดกับกุฎีตะเกี่ยฯ นั้นมีมะกอม (สุสานมีอาคารทรงโดมสร้างครอบ) ของบุคคลผู้สำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งเล่ากันมาหลายทางว่า เป็นที่ฝังศพของแขกผู้วิเศษคนหนึ่ง (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ หน้า ๙๐)


เป็นที่นับถือสำหรับชาวมุสลิมจากอินเดียใต้ คำ “ตะเกี่ย” เป็นศัพท์เปอร์เซีย ซึ่งเอามาจากอรับ อ่านตะกียะฮฺหรือตามถนัดว่า ตะเกี่ย (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๓ หน้า ๑๒๒) มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งผู้วิเศษท่านนี้ซึ่งภายหลังนิยมเรียกกันว่า เจ้าพระคุณตะเกี่ยฯ เดินทางมาจากอินเดียโดยเรือสำเภา แล่นเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อเรือแล่นใบมาถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ได้ทราบว่ามีบ้านเรือนของชาวมุสลิมอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ท่านก็แวะขึ้นเยี่ยมเยียน แต่ท่านเจ้าพระคุณฯ เห็นว่า ย่านนี้ไม่เหมาะสมสำหรับท่าน จึงได้แล่นเรือขึ้นเหนือต่อไปตามลำน้ำเจ้าพระยา จนถึงกรุงศรีอยุธยา


ครั้นต่อมาท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชทานที่ดินแปลงใหญ่ให้ที่ชานเมืองพระนครศรีอยุธยา (น่าจะเป็นบริเวณปากคลองตะเคียน) การได้รับราชทินนามว่า “ตะเกี่ยโยคินราชมิสกิจจินจาสยาม” คงจะมีเค้าลางยืนยันถึงความดีความชอบของท่านเจ้าพระคุณฯ ได้เป็นอย่างดี กุฎีตะเกี่ยฯ จึงเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง สำหรับประชาคมมุสลิมในอยุธยา เพราะมีการระบุว่า ย้อนไปถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๒๕) นั่นทีเดียว (ดูในวารสารที่นี่ต้นสน อ้างแล้ว หน้า ๙)


กุฎีช่อฟ้ากุฎีช่อฟ้า


(๓) กุฎีช่อฟ้า ตั้งอยู่ที่คลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยา มัสยิดหลังแรกสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ชุมชนของประชาคมมลายูมุสลิมได้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบปากคลองตะเคียนเป็นอัน มาก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเสด็จประพาสทางชลมารคผ่านตำบลคลองตะเคียนมัสยิดหลังใหม่ ขณะนั้นได้สร้างเสร็จราวปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นอาคารก่ออิฐหรือปูน มีรูปช่อฟ้าใบระกาประดับ พระองค์จึงพระราชทานนามว่า มัสยิดกุฎีช่อฟ้า พร้อมทั้งได้พระราชทาน “ตะเกียงช่อ” ให้แก่มัสยิดด้วย


เขียนโดย อ.อาลี เสือสมิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น